อาคารและสถานที่ที่น่าสนใจภายในวัดคีรีวงศ์
๑. อุโบสถ เริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๓ มีสมเด็จพระพุทธโคดม จำลอง ขนาดหน้าตัก ๔ ศอก ๙ นิ้ว เป็นพระประธาน และที่ฝาผนังอุโบสถ มีภาพวาด พระเจ้า ๑๐ ชาติ ภาพพุทธประวัติ ปางแสดงปฐมเทศนา และปางแสดงโอวาทปาฏิโมกข์
๒. ศาลาพุทธานุภาพ เป็นศาลาทรงไทย ๓ มุข ขนาดกว้าง ๑๓ วา ยาว ๓๓ วา และมีมุขด้านหน้าเนื้อที่ ๔๐ ตารางวา มีเนื้อที่ ตั้งอาคาร ๔๖๙ ตารางวา สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑ ใช้เป็นสถานที่บวชศีลจารินี ปีละ ๓ ครั้ง ภายในศาลา วาดรูปพุทธประวัติ รูปพระเวสสันดร ๑๓ กัณฑ์ วาดรูปพระเถระองค์ที่สำคัญในประเทศไทย เช่น หลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญ, หลวงปู่แหวน, หลวงปู่มั่น เป็นต้น
ด้านหลังวาดรูปพระราชลัญจกร ๙ รัชกาล ด้านข้างศาลาทิศตะวันตก วาดภาพพุทธประวัติ ด้านเหนือวาดรูปธรรมจักร ตรงกลางและพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงและธงชาติ
ทิศตะวันตก วาดภาพสังเวชนียสถาน ๔ ตำบล ด้านตะวันออกวาดรูปพระเถระผู้ทรงคุณ-ธรรม ด้านต่าง ๆ และวาดรูปพระเวสสันดร
สำหรับศาลาพุทธานุภาพหลังนี้ สร้างไว้เพื่อใช้เป็นที่ประชุมอบรมศีลจารินี เป็นที่ประชุม พระสงฆ์ นักเรียน นักศึกษา และข้าราชการ สามารถรองรับผู้เข้าประชุม ประมาณ ๒,๐๐๐ คน โดยจัดอบรมศีลจารินีปีละ ๓ ครั้ง ๆ ละ ๗ วันและการประชุม สัมมนาอบรมพัฒนาจิตใจข้าราชการ ตำรวจและนักเรียน นักศึกษา ทุกเดือน ๆ ละหลายครั้ง
๓. โรงเรียนคีรีวงศ์วิทยา ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของวัด เป็นอาคารทรงไทยประยุกต์ ๓ ชั้น มี ๓ มุข ยาว ๕๒ เมตร กว้าง ๑๔ เมตร
๔. ศาลาบำเพ็ญบุญ ใช้เป็นที่จัดเลี้ยง ผู้เข้าประชุมหรือผู้มาบวชศีลจารินี สามารถรองรับคน ได้ประมาณ ๒,๐๐๐ คน
๕. สวนปฎิบัติธรรมโพธิญาณ สวนปฎิบัติธรรมลานโพธิ์ และสวนปฎิบัติธรรมร่มไทร ใช้เป็นสถานที่เดินจงกรมและนั่งสมาธิที่สนามหญ้า หรือใต้ต้นไม้
๖. สำนักกรรมฐานอุบาสิกา มี ๒ ส่วน คือ สำนักล่างและสำนักบน มีกุฎิกรรมฐาน ประมาณ ๑๐๐ หลัง
๗. วิหารหลวงพ่อโตศักดิ์สิทธิ์ เป็นวิหารใหญ่ ตั้งอยู่ในสำนักกรรมฐานอุบาสิกา เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางสมาธิ ปูนปั้น หน้าตัก ๔ ศอก ๙ นิ้ว ทาทองน้ำสีเหลืองเป็นที่สิง สถิตย์ของเทพย์ที่เป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดคีรีวงศ์ ผู้ขอพรได้รับความสำเร็จขายที่ได้จึงสร้างวิหารถวาย ขนาดกว้าง ๑๖ เมตร ยาว ๓๐ เมตรและสองข้างหลวงพ่อโตศักดิ์สิทธิ์ประดิษฐานรูปหล่อสมเด็จ พระพุทฒาจารย์ (โต) และรูปหล่อหลวงพ่อวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรุงเทพฯ
๘. พระพุทธชินสีห์ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางสมาธิ หน้าตักกว้าง ๕ วา ๙ นิ้ว เป็นลักษณะผสมเชียงแสน สุโขทัยและรัตนโกสินทร์ คือ ขัดสมาธิเพชร, เกตุดอกบัวตูม สังฆาฏิสั้น แบบพระพุทธรูปสมัยเชียงแสน พระพักตร์ ส่วนองค์และพระพาหาเป็นสมัยสุโขทัย ส่วนแท่นพระเป็นสมัยรัตนโกสินทร์ พระพุทธรูปใหญ่บนยอดเขานี้ สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๔
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น